เส้นทางเศรษฐกิจ "R3A+" : เส้นทางเศรษฐกิจ “R3A+” : สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ (ตอนที่ 3) (ตอนจบ)
11 Oct 2016 Views 8782
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
“เฉิงตูเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่และมีศักยภาพมากที่สุดในจีนตะวันตก ชาวเมืองชอบจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างประเทศ สินค้าไทยได้รับความนิยมหลายรายการ เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ขณะนี้ สำนักงานฯ กำลังผลักดันสินค้าสุขภาพ สินค้าออแกนิกส์เข้าสู่จีน เพราะจีนกำลังให้ความสนใจกับสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีความพร้อมด้านใบรับรองสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำแพ็คเกจสินค้าให้สวยงาม เมื่อสินค้ามีคุณภาพและมีแพ็คเกจที่สวยงามแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสนใจอย่างแน่นอน หากมีโอกาสนำสินค้าไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีนจะดีมาก เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองและจะได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงได้มีช่องทางหาคู่ค้าและสร้างพันธมิตรกับชาวจีนด้วย”
นางจิตนิภา หวังเชิดชูวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
จากการพูดคุยกับผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จ.เชียงใหม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับนครเฉิงตูในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจาก ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่และนครเฉิงตูได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ทำให้การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น สำหรับภาคเอกชนเชียงใหม่รู้จักตลาดเฉิงตูในระดับหนึ่ง และผู้ประกอบการหลายรายเคยไปออกร้านแสดงสินค้าที่เฉิงตูมาบ้างแล้ว ปัจจุบัน หอการค้าเชียงใหม่มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง และกำลังสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้มามีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศ และต้องการให้หน่วยงานไทยที่ตั้งอยู่ในเฉิงตูประชาสัมพันธ์ข่าวการแสดงสินค้า หรือหาแนวทางที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในนครเฉิงตูให้มากขึ้น
ภาพบน คณะฯ ประชุมหารือกับ ผู้แทนสนง.พาณิชย์ จ.เชียงใหม่
ภาพล่าง คณะฯ ประชุมหารือกับ ผู้แทนหอการค้า จ.เชียงใหม่
ในการหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นางจิตนิภา หวังเชิดชูวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเฉิงตูว่า “เฉิงตูเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่และมีศักยภาพมากที่สุดในจีนตะวันตก ชาวเมืองชอบจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างประเทศ สินค้าไทยได้รับความนิยมหลายรายการ เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ขณะนี้ สำนักงานฯ กำลังผลักดันสินค้าสุขภาพ สินค้าออแกนิกส์เข้าสู่จีน เพราะจีนกำลังให้ความสนใจกับสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีความพร้อมด้านใบรับรองสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำแพ็คเกจสินค้าให้สวยงาม เมื่อสินค้ามีคุณภาพและมีแพ็คเกจที่สวยงามแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสนใจอย่างแน่นอน หากมีโอกาสนำสินค้าไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีนจะดีมาก เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองและจะได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงได้มีช่องทางหาคู่ค้าและสร้างพันธมิตรกับชาวจีนด้วย”
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ฯ ยินดีให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดนครเฉิงตู โดยที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ ๆ ได้เข้ามาลองตลาดในนครเฉิงตู ผ่านงานเทศกาลไทยซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และผู้ประกอบการหลายรายประสบความสำเร็จในการต่อยอดการจำหน่ายสินค้าจากงานนี้”
จากการหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่มีการปรับตัวและกระตือรือร้นอย่างมากที่จะ “ก้าวออกมา” แสวงหาโอกาสทางการค้าโดยใช้ประโยชน์ตามเส้นทาง R3A+ กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยยังคงห่วงกังวลคือ การหาคู่ค้าที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ รวมทั้งได้รับการชี้แนะช่องทางการค้าและการส่งเสริมจากภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ คณะฯ ได้เดินทางไปพบกับ ดร.ณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ม.เชียงใหม่ อาจารย์ดนัยธัญ พงษ์พัชรธรเทพ อาจารย์ ม.เชียงใหม่ ผู้ที่เคยศึกษาและลงพื้นที่สำรวจเส้นทางขนส่ง R3A และต่อไปถึงนครเฉิงตู และนายวินิตย์ ขันดี เจ้าของบริษัท 10.ดี.อินเตอร์ฟู้ด ผู้ประกอบการส่งออกลำไยรายใหญ่ของ จ.เชียงใหม่ เพื่อเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เกี่ยวกับการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านเส้นทาง R3A
อาจารย์ดนัยธัญฯ ให้ความเห็นว่า “เมื่อ 3 ปีก่อนผมได้เดินทางสำรวจการขนส่งผลไม้ผ่านเ้ส้นทาง R3A และเมื่อปีที่ผ่านมาผมได้สำรวจอีกครั้งแต่เป็นการขนส่งข้าวไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือ ด่านตรวจสอบสินค้าบ่อหาน (จีน) มีระบบการตวจสอบสินค้าที่สะดวกคล่องตัวมากกว่าเดิม และปัจจุบันบริษัทด้านขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น”
“R3A มีจุดเด่น 3 ประการ คือ 1) เส้น R3A เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างไทยและจีนที่สั้นและรวดเร็วที่สุดในการขนส่งผลไม้สดจากไทย ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพของผลไม้สดได้ดีที่สุด
2) มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตลาดเป้าหมายตามการเปลี่ยนแปลงของราคาและความต้องการผลไม้สดของตลาด และ 3) ครอบคลุมทั้งตลาดจีนตอนใต้บนเส้น R3A มีนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางและตลาดจีนตะวันตกบนเส้นกรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู ซึ่งมีนครเฉิงตูเป็นจุดศูนย์กลาง”
“จุดด้อยของเส้น R3A คือ การเปลี่ยนหัวรถและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าด่านบ่อเต็น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพของผลไม้ อีกทั้งเพิ่มต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากต้องจ้างแรงงานในการขนถ่ายสินค้า และสิ้นเปลืองเวลาส่งผลกระทบถึงราคาผลไม้ที่อาจเปลี่ยนแปลง”
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเส้นทาง R3A ผมมองว่า “รัฐบาลทั้งไทยและจีนจะร่วมกันหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเส้นทาง R3A ตลอดจนหาวิธีการขจัดปัญหาและอุปสรรคทั้งในเชิงกายภาพและกฎระเบียบต่างๆ ให้หมดไป เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งบนเส้นทาง R3A และส่งเสริมภาคการค้าระหว่างประเทศไทย-จีนให้เติบโตขึ้น”
ภาพ คณะฯ ประชุมหารือกับอาจารย์ ม.เชียงใหม่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย
นายวินิตย์ ขันดี เจ้าของบริษัท 10.ดี.อินเตอร์ฟู้ด ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองว่า “ผมดำเนินธุรกิจส่งออกลำใยไปจีนมากว่า 20 ปี พบเจอการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือ การเปิดตัวของเส้นทางขนส่งทางบก R3A ที่วงการผู้ประกอบการส่งออกของไทยต่างให้ความสำคัญและยอมรับศักยภาพของเส้นทางขนส่งสายนี้”
“หลายปีมานี้ ผมขนส่งผลไม้ไปจีนโดยใช้เส้นทาง R3A สู่นครคุนหมิงเป็นหลักซึ่งทั้งสะดวกและรวดเร็ว (เส้นรองคือขนส่งทางน้ำไปที่ตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว) อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของเส้นทางขนส่ง R3A คือ ค่าภาษีและค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ปัจจุบัน การขนส่งโลจิสติกส์ไม่ใช่ปัญหาของการค้าระหว่างประเทศ ตอนนี้นักธุรกิจต้องแข่งขันกันในด้านของผลิตภัณฑ์ แพ็กเก็จและคุณภาพของสินค้า ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้บริโภคพอใจและได้รับสินค้าที่ดีที่สุด และทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้การค้าโดยวิธีใหม่ ๆ เช่น อี-คอมเมิร์ช ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
คุณวินิตย์ฯ มองว่า “เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับ เส้นทางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ส่งออกสินค้าจีนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้โอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดสินค้าไทยในจีนยังคงเปิดกว้าง โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทย”
เส้นทาง R3A+ ประหยัดเวลาและสะดวกในการขนส่งสินค้ามานครเฉิงตู
มังคุด ทุเรียน กล้วยไข่ ลำไย มะพร้าว เป็นส่วนหนึ่งของผลไม้ไทยที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในนครเฉิงตูที่ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง นครเฉิงตู ผ่านเส้นทาง R3A+ ปัจจุบัน เส้นทาง R3A+ เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยและสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่สำคัญสู่นครเฉิงตู และจะกระจายสินค้าต่อไปยังเมืองอื่นในภาคตะวันตกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากไทยมาถึงนครเฉิงตูประมาณ 3-5 วัน
เจ้าหน้าที่ของกรมพาณิชย์นครเฉิงตู ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A+ ถือว่าคุ้มค่าและประหยัดเวลามากทีเดียวและจะทำให้ผลไม้ไทยและผลไม้จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวางจำหน่ายมากขึ้นในตลาดนครเฉิงตู อีกทั้งผลไม้ดังกล่าวยังจะสามารถกระจายจำหน่ายไปทั่วจีนได้อีกด้วย ซึ่งระบบเส้นทางโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า R3A+ จะเป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด
“การขนส่งผลไม้ไทยผ่านเส้นทาง R3A+ (กรุงเทพ-คุนหมิง-เฉิงตู) จะประหยัดต้นทุนการขนส่งกว่าการขนส่งทางอากาศถึง 30% และประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางน้ำถึง 15-17 วันเลยทีเดียว”
ภาพ ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยที่ขนส่งผ่านเส้นทาง R3A+
สินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในนครเฉิงตู
ผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ไทยชาวจีนรายหนึ่งในนครเฉิงตูให้ข้อมูลว่า “ผลไม้ไทยมีมากมายหลายชนิดและที่สำคัญมีจำหน่ายอยู่ตลอดทั้งปี อีกทั้งมียอดการจำหน่ายที่มั่นคง ซึ่งหลังจากเส้นทางขนส่งสินค้า R3A เปิดใช้บริการ ต้นทุนการขนส่งผลไม้และสินค้าอื่นๆ จากไทยลดลงกว่า 30% ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9% และเวลาการขนส่งสินค้าที่สั้นลงทำให้ผลไม้คงคุณภาพและความสดใหม่ซึ่งถือเป็นเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดผู้บริโภคให้มาเลือกซื้อมากขึ้น”
“นอกจากนี้ ผลไม้ไทยที่ขนส่งมายังนครเฉิงตูยังสามารถกระจายจำหน่ายไปยังมณฑลและเมืองที่ใกล้กับนครเฉิงตู ได้แก่ เมืองเหมียนหยาง เมืองอี๋ปิน นครฉงชิ่ง นครกุ้ยหยาง นครซีอันและนครหลายโจว เป็นต้น ทำให้นครเฉิงตูเลื่อนระดับขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรแห่งจีนตะวันตก”
สถิติของกรมพาณิชย์นครเฉิงตู ระบุว่า สถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศไทยในปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12,560,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 72% ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 10,880,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 75% และมีมูลค่าการนำเข้า 1,690,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52%
ตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ค.2558 การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,810,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 77% ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 6,790,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% และมีมูลค่าการนำเข้าที่ 2,020,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 85%
ภาพ งาน "สัปดาห์ผลไม้ไทย ณ นครเฉิงตู"
ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง
ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่สุดในจีนตะวันตก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2557 ตลาดค้าส่งฯ ได้จำหน่ายผลไม้นำเข้าทั้งสิ้น 244,000 ตัน โดยเป็นผลไม้นำเข้าจากประเทศไทยมากถึง 53,000 ตัน คิดเป็น 21.5% ของปริมาณการจำหน่ายผลไม้นำเข้าทั้งหมด และคิดเป็น 66% ของปริมาณการจำหน่ายผลไม้นำเข้าที่มาจากประเทศในอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าจำหน่ายราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2558 มีการจำหน่ายผลไม้นำเข้าประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งเป็นผลไม้ไทยจำนวน 48,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่ 32% และมูลค่าการจำหน่ายทั้งสิ้น 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดกันว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 จะมียอดการจำหน่ายผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศไทย
ผู้รับผิดชอบในกรมพาณิชย์นครเฉิงตู วิเคราะห์ว่า “จากสถิติตัวเลขการนำเข้าผลไม้ต่างชาติของนครเฉิงตูในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลไม้ไทยที่ชาวเฉิงตูโปรดปรานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ กล้วยไข่ รองลงมาได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุดและส้มโอ”
“นครเฉิงตู คือ หนึ่งในจุดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบาย One Belt-One Road ของจีน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A+ (กรุงเทพ-คุนหมิง-เฉิงตู) ให้มากที่สุด โดยรัฐบาลนครเฉิงตูตั้งเป้าที่จะสร้างระบบการขนส่งสินค้าเกษตรข้ามประเทศผ่านเส้นทางบกโดยใช้เส้นทาง R3A+ เป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อยกระดับให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองหน้าด่านของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอนาคต” ผู้รับผิดชอบในกรมพาณิชย์นครเฉิงตูย้ำ
บทส่งท้าย
จากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องตามเส้นทางขนส่ง R3A+ (กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู) ทำให้เราเห็นว่า R3A+ จะมีบทบาทการเป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่มีความสำคัญทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือตอนบนของไทยกับจีนตะวันตกเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เส้นทาง R3A+ กำลังขยายบทบาทมากยิ่งเพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์ “One Belt-One Road” ของจีน ซึ่งนครเฉิงตูพยายามสร้างบทบาทให้โดดเด่นในการเชื่อมโยงกับไทยผ่านเส้นทาง R3A+ ภายใต้นโยบายนี้ จะเห็นได้ว่า นครเฉิงตูมีความพร้อมกระตือรือร้นและพร้อมรับการนำเข้าสินค้าไทยผ่าน R3A+ ดังนั้น R3A+ จะเป็นอีกเส้นทางการค้าทางบกที่มีศักยภาพในการช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าคุณภาพของไทยโดยเฉพาะผลไม้ไปยังจีนตะวันตก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถใช้เส้นทางโลจิสติกส์ดังกล่าวขนส่งสินค้าเข้าไปขยายตลาดสินค้าไทยในภาคตะวันตกของจีน โดยนครเฉิงตูเป็นจุดศูนย์กลางที่มีตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง และจุดกระจายสินค้าไทยไปยังเมืองรองอื่น ๆ ในมณฑลเสฉวน รวมถึงมหานครฉงชิ่ง และมณฑลตอนในของจีน
นอกจากนี้ เส้นทาง R3A+ จะเป็นเส้นทางที่ช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวเฉิงตูและชาวนครฉงชิ่ง หลายคนเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “สินค้าจะเดินหน้าต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง” ตอนนี้ระบบขนส่งโลจิสติกส์เชื่อมไทยกับนครเฉิงตูพร้อมแล้ว ผู้ประกอบการไทยทุกท่านเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง?
จบบริบูรณ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น