การจัดลำดับความสำคัญในการผลิตและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น
ประเด็นแรก คือ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานยังคงมีความสำคัญลำดับต้นสำหรับผู้ผลิต โดยจะต้องมองภาพระยะยาวไปถึงช่วงหลังยุคโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตต้องกระจายความหลากหลายของกระบวนการผลิต (operations) และซัพพลายเออร์ (supplier portfolio) มากขึ้น
.
ประเด็นต่อมา คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระจายอำนาจการตัดสินใจ โดยหากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานได้แล้ว ก็จะช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายขึ้น ทั้งยังสามารถกระจายอำนาจในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนทำงานเฉพาะทางบางอย่าง เช่น วิศวกรออกแบบอาจเผชิญกับความท้าทายจากการต้องสื่อสารและประสานงานทางไกลกับทีมงานที่ประจำอยู่คนละพื้นที่
.
ประเด็นสุดท้าย คือ การเสริมสร้างระบบการรักษาความปลอดภัย ทั้งทางกายภาพและไซเบอร์เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการผลิต เช่น การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบไซเบอร์ การเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ (Ransomware) เป็นต้น ซึ่งเมื่อภาคการผลิตเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น จึงกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ซึ่งขยายตัวขึ้นเช่นกัน
.
การทบทวนและปฏิรูปกลยุทธ์ดิจิทัล
ผู้ผลิตสามารถพิจารณาเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศดิจิทัล (digital ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีขีดความสามารถพร้อมสำหรับอนาคตตาม “กลยุทธ์ดิจิทัล 4 ประการ” ดังนี้
.
1.การสร้างรากฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
ผู้ผลิตควรปรับปรุงระบบห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ทั้งหมดให้เป็นดิจิทัลเพื่อความสะดวกและคล่องตัว ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงโรงงาน การจัดหาลูกค้า และการบริการลูกค้า ผู้ผลิตต้องวางแผนก่อนว่าจะวางรากฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับเทคโนโลยีในปัจจุบันและความคิดริเริ่มด้านดิจิทัลในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการสร้างสถาปัตยกรรมไฮบริดเพื่อเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ IoT และการผสมผสานระบบดิจิทัลใหม่เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม
.
2.การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ภาคการผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากระบบอัจฉริยะในการแปลงข้อมูลเชิงลึกให้เป็นข้อมูลนำไปใช้ปรับปรุงทุกแง่มุมของธุรกิจ เช่น 1) ระบบการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากแบบทันทีในกระบวนการผลิต โดยใช้ IoT ผสมผสานกับคลาวด์ 2) ระบบการแยกแยะปัญหาในสายพานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว 3) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพเครื่องจักรอย่างทันท่วงทีเพื่อวางแผนการบำรุงรักษาตามกำหนดการผลิต และป้องกันการหยุดชะงักโดยไม่คาดคิด
.
3.การใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารและการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ
การทำงานผ่านระบบทางไกลจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาวในช่วงหลังโควิด-19 ผู้ผลิตจึงควรมีแพลตฟอร์มศูนย์กลางการทำงานผ่านระบบทางไกลร่วมกันที่มีฟังก์ชันหลากหลาย ทั้งการส่งข้อความ ข้อความเสียง และวีดิทัศน์ เพื่อให้พนักงานและคู่ค้าทำงานได้อย่างราบรื่นในทุกขั้นตอน เวลา และสถานที่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการกระจายผลิตภัณฑ์สู่ตลาด
.
4.การสร้างระบบการรักษาความปลอดภัยในทุกสถานที่
เป็นแนวคิดด้านความมั่นคงปลอดภัยรูปแบบใหม่ เพื่อให้พนักงานเข้าถึงแอปพลิเคชันและข้อมูลของบริษัทได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ อุปกรณ์ หรือการเชื่อมต่อเครือข่ายบรอดแบนด์ ผู้ผลิตควรจะมีระบบปฏิบัติการเชิงรุกในการติดตามและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่ผิดปกติในระบบได้อย่างต่อเนื่องทั่วถึง และลดเวลาในการตอบสนองเมื่อเกิดการโจมตีระบบ
.
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ผู้ประกอบการภาคการผลิตในประเทศไทยสามารถปรับใช้แนวคิดและกลยุทธ์ดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และประสิทธิภาพการทำงานในบริษัทตามความเหมาะสมของเงื่อนไขและขนาดของบริษัท การดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) ต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น